เป็นวิธีป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในผู้ป่วยทุกราย โดยให้คำนึงว่าทุกรายอาจจะมีเชื้อโรคที่ติดต่อได้ทางเลือด สารคัดหลั่งทุกชนิด (Body fluid, Secretion, Excretion ยกเว้นเหงื่อ) ผิวหนังที่มีแผล และเยื่อบุ มาตรฐานที่กำหนดไว้เดิม และข้อกำหนดล่าสุด (HICPAP/CDC precautions) มีดังนี้
1) การล้างมือ (Hand washing) ที่ถูกวิธี ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย
2) การสวมเครื่องป้องกันร่างกาย (Use of PPE-Personal Protective Equipment) เช่น ผ้าปิดปาก/จมูก (Mask) หน้ากาก (Face shield) แว่นตา (Goggles) เสื้อคลุม (Gown) และถุงมือ
3) การดูแลอุปกรณ์-เครื่องมือเครื่องใช้ของผู้ป่วย (Appropriate handling of patients care equipment) ทำความสะอาดอย่างระมัดระวัง ทำลายเชื้ออย่างถูกต้อง
4) การจัดการผ้าที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วย ที่ปนเปื้อนเลือด สารคัดหลั่งและสิ่งขับถ่ายอย่างระมัดระวัง (Appropriate handling of waste)
5) การควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม (Environmental control) ทำความสะอาดและทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อม เช่น เตียง อุปกรณ์ข้างเตียง ห้องผู้ป่วย
6) การป้องกันการติดเชื้อจากเลือดและสารคัดหลั่งจากของมีคมขณะปฏิบัติงาน (Prevention of needle stick/sharp injuries)
7) การสร้างเสริมสุขนิสัยในการไอ หรือเมื่อมีน้ำมูก (Respiratory Hygiene/Cough Etiquette) ปิดปากและจมูกด้วยกระดาษเช็ดหน้าแล้วทิ้งทันที ใช้ Mask ล้างมือเมื่อสัมผัสน้ำมูก และอยู่ห่างผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจมากกว่า 3 ฟุต
8) การฉีดยาที่ปลอดภัย (Safe Injection Practices) โดยการใช้เข็มฉีดยาที่ใช้ครั้งเดียว และใช้สำหรับผู้ป่วยคนเดียวเท่านั้น รวมถึงป้องกันการปนเปื้อนในอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ขณะฉีดยา
9) การควบคุมการติดเชื้อขณะเจาะหลัง (Infection Control Practices for Special Lumbar Puncture Procedure) โดยใช้ผ้าปิดปาก/จมูกขณะปฏิบัติการ
ที่มา : มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติงานทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ฉบับปรับปรุงใหม่ 2555, สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น