แหล่งน้ำมันปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย, อันดามัน ประเทศไทย

1. น้ำมันในทะเลอ่าวไทย

การสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยเริ่มในปีพ.ศ. 2511 ภายใต้เงื่อนไขพิเศษตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2510 ต่อมาเมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 จึงได้โอนสิทธิมาสำรวจภายใต้กฎหมายปิโตรเลียม

พื้นทะเลอ่าวไทยมีความลาดชันน้อย โดยค่อยๆ ลาดเอียงลงมาจากฝั่งด้านตะวันออกและตะวันตกจนถึงจุดลึกสุดตรงกลางอ่าว ความลึกประมาณ 83 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางก่อนเปิดออกสู่ทะเลจีนใต้ อ่าวไทยถูกขนาบด้วยชายฝั่งของประเทศต่างๆ จึงมีพื้นที่ทับซ้อนกันหลายประเทศ คือ พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา พื้นที่ทับซ้อนไทย-เวียดนาม และพื้นที่ทับซ้อนไทย - มาเลเซีย

แอ่งสะสมตะกอนยุคเทอร์เทียรี (อายุน้อยกว่า 65 ล้านปี) ในอ่าวไทยมีไม่น้อยกว่า 13 แอ่ง ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการสำรวจหาปิโตรเลียม แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแอ่งตะกอนด้านตะวันตกของสันเกาะกระ (Ko Kra Ridge) ประกอบด้วย แอ่งตะกอนขนาดเล็ก ลักษณะแคบและยาวในแนวเหนือ-ใต้ ได้แก่ แอ่งหัวหิน แอ่งนอร์ทเวสเทิน แอ่งประจวบ แอ่งชุมพร แอ่งเวสเทินกระ แอ่งกระ แอ่งอีสเทินกระ แอ่งนคร และแอ่งสงขลา ส่วนทางด้านตะวันออกของสันเกาะกระเป็นแอ่งตะกอนที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีความสำคัญทางด้านปิโตรเลียมมาก คือ แอ่งปัตตานี และแอ่งมาเลย์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้สุดของอ่าวไทย

กลุ่มแอ่งตะกอนด้านตะวันตกของสันเกาะกระ (Ko Kra Ridge) มีการสำรวจพบปิโตรเลียมในกลุ่มแอ่งกระ มีการผลิตน้ำมันดิบต่อวันจากแหล่งจัสมินและบานเย็น ประมาณ 12,000 บาร์เรล แหล่งบัวหลวง ประมาณ 7,400 บาร์เรล ในแอ่งชุมพรสำรวจพบน้ำมันดิบ แหล่งนางนวล (หยุดผลิตชั่วคราว) ในแอ่งสงขลาสำรวจพบน้ำมันดิบแหล่งสงขลา มีการผลิตประมาณวันละ 17,500 บาร์เรล

แอ่งปัตตานี เป็นแอ่งสะสมตะกอนอายุเทอร์เชียรี่ที่ใหญ่ที่สุดอ่าวไทย มีแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ธรณีวิทยาบริเวณนี้มีหินตะกอนที่เกิดสะสมในที่ราบน้ำท่วมถึง ที่ราบน้ำพัดพา และทะเลสาบน้ำจืด เป็นหินต้นกำเนิดปิโตรเลียมที่สำคัญ โดยมีหินทรายที่เกิดจากการสะสมตัวในทางน้ำเป็นชั้นกักเก็บปิโตรเลียม รูปแบบของแหล่งกักเก็บส่วนใหญ่สัมพันธ์กับแนวรอยเลื่อน

บริษัท คอนติเนนตัล ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด เจาะสำรวจหลุมแรกของอ่าวไทย คือ หลุมสุราษฎร์ - 1 แต่ไม่พบปิโตรเลียม ต่อมา ในปีพ.ศ. 2515 บริษัท ยูเนี่ยน ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เจาะสำรวจหลุม 12-1 ในแปลง 12 พบก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งได้พัฒนาเป็นแหล่งปิโตรเลียมแห่งแรกของอ่าวไทย คือ แหล่งเอราวัณ และพัฒนาแหล่งอื่นๆ ที่สำรวจพบน้ำมันดิบอีกด้วย ได้แก่ แหล่งบรรพต แหล่งสตูล แหล่งปลาทอง แหล่งฟูนาน และแหล่งไพลิน และกลุ่มแหล่งทานตะวัน ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ในแอ่งปัตตานี มีการผลิตปิโตรเลียมรวมต่อวัน คือ ก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลว(คอนเดนเสท) ประมาณ 53,800 บาร์เรล และน้ำมันดิบ ประมาณ 76,000 บาร์เรล (กลุ่มบริษัทเชฟรอน เป็นผู้ดำเนินงานในปัจจุบัน) สำหรับพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ซึ่งอยู่บริเวณตอนเหนือของแอ่งปัตตานี ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจาของทั้งสองประเทศ

แอ่งมาเลย์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแอ่งปัตตานีเป็นแอ่ง Intracratonic ที่เกิดจากการปริแยก (rifting) ในช่วงอายุ เทอร์เชียรี่ตอนต้น เนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนในแนวราบ แอ่งจะวางตัวในแนวเหนือ-ใต้และตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ การปริแยกดังกล่าวทำให้เกิดรอยเลื่อนปกติ (normal fault) ในแนวเหนือ-ใต้และเกิดแอ่งย่อยแบบ half graben ชั้นหินในแอ่งมาเลย์ ประกอบด้วยหินดินดานซึ่งสะสมตัวในทะเลสาบน้ำจืด หินทรายที่สะสมตัวในแบบทางน้ำ ดินดอนปากแม่น้ำ ที่ราบน้ำท่วม และมีชั้นถ่านหินและชั้นหินดินดานแทรกสลับอยู่ทั่วไป โดยมีหินดินดานที่สะสมตัวในทะเล จะเป็นได้ทั้งหินต้นกำเนิดและชั้นกักเก็บปิโตรเลียม

แอ่งมาเลย์ตอนเหนือ มีพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-เวียดนาม แต่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ข้อตกลงกำหนดเส้นแบ่งเขตประเทศเมื่อปีพ.ศ. 2540 ซึ่งในส่วนพื้นที่ของไทย บริษัท ปตท. สผ. จำกัด สำรวจพบปิโตรเลียมแหล่งอาทิตย์ ซึ่งรวมกับแหล่งบงกช ได้รับพระราชทานนามว่า แหล่งนวมินทร์ ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรวมต่อวันจากแหล่งบงกช คือ ก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 650 ล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลว ประมาณ 21,000 บาร์เรล สำหรับปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรวมต่อวันจากแหล่งอาทิตย์ ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลว ประมาณ 11,500 บาร์เรล แอ่งมาเลย์ตอนใต้ ในเขตพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศมาเลเซีย ได้จัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia – Thailand Joint Authority : MTJA) เพื่อแสวงประโยชน์ในแหล่งปิโตรเลียมร่วมกัน และเริ่มผลิตปิโตรเลียมแล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2548 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ส่งก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลวเข้าประเทศไทยวันละประมาณ 760 ล้านลูกบาศก์ฟุต และ 7,500 บาร์เรล ตามลำดับ

2. น้ำมันในทะเลอันดามัน
ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของประเทศไทย ชายฝั่งทะเลอันดามัน มีความลาดชันสูงกว่า ด้านอ่าวไทยมาก ในน่านน้ำไทย พื้นทะเลค่อยลาดชันไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ตรงบริเวณต่อแดนกับน่านน้ำอินโดนีเซีย ทะเลอันดามันในเขตไทยมีน้ำลึกกว่า 1,000 เมตร นับแต่ปีพ.ศ. 2517 ถึงปี พ.ศ. 2555 มีผู้รับสัมปทานหลายรายเจาะสำรวจแล้ว 19 หลุม พบร่องรอยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ 8 หลุม ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจทางธรณีวิทยา ที่มีอยู่ในปัจจุบัน บ่งชี้ว่าในทะเลอันดามันมีศักยภาพทางปิโตรเลียม มีโอกาสพบแหล่งปิโตรเลียมได้ดังเช่นแหล่งปิโตรเลียมที่พบในน่านน้ำประเทศสหภาพพม่า และอินโดนีเซีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น