1. ความนำ การเขียนความนำเป็นการเกริ่นนำเรื่องให้ผู้อ่านได้ทราบถึงที่มาของปัญหาประเด็นที่จะกล่าวถึง หรืออย่างน้อยก็เป็นการสร้างความสนใจให้ติดตามรายละเอียดต่อไป การเขียนรายงานผลการวิจัย จะเริ่มความนำในหัวข้อ หลักการและเหตุผล หรือความเป็นมาของปัญหา ซึ่งก็เป็นการชี้แจงแสดงเหตุผล ให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของโครงการหรืองานวิจัยนั้น ๆ นั่นเอง ต่อจากนั้นจะกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ก่อนจะกล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงานอันเป็นเนื้อหาหลัก
2. ส่วนเนื้อหา การเขียนเนื้อหาในรายงาน ค่อนข้างจะเป็นเรื่องกว้าง เป็นอิสระของผู้เขียน แต่ก็มีหลักการสำคัญพอประมวลได้ ดังนี้
- เริ่มด้วยการเชื่อมโยงจากส่วนนำเข้าสู่เนื้อหา
- อธิบายวิธีการศึกษาเรื่องนั้น ๆ เช่น รวบรวมจากเอกสาร สัมภาษณ์ สังเกต ทดลอง เป็นต้น
- เสนอหลักการ ทฤษฎี ข้อค้นพบ หรือข้อวิเคราะห์วิจารณ์ให้ชัดเจน ยกเหตุผลสนับสนุนให้หนักแน่น อ้างอิงแหล่งข้อมูลให้ถูกต้อง หากมีหลายประเด็นควรจำแนกเป็นประเด็น ๆ ไป
- ให้นิยามศัพท์เฉพาะที่สำคัญ
- อธิบายขยายความ ยกตัวอย่างประกอบให้เข้าใจง่าย
- ใช้แผนภูมิ ภาพ ตาราง กราฟ ฯลฯ ประกอบในส่วนที่จำเป็นเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
3. ส่วนสรุป ส่วนนี้อาจมิใช่การสรุปเท่านั้น แต่เป็นการลงท้ายซึ่งมีวิธีการหลายแบบ กล่าวคือ
- สรุปเนื้อหา ในกรณีเนื้อหายาวและซับซ้อน อาจสรุปย่อประเด็นสำคัญ เป็นข้อความหรือแผนภูมิ เพื่อให้เห็นภาพรวมของเนื้อหาอย่างชัดเจน
- กล่าวย้ำจุดสำคัญหรือจุดเด่นของเนื้อหา
- เสนอทรรศนะของผู้เขียน แต่ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว มิใช่หลักการหรือทฤษฎีตายตัวที่ทุกคนต้องทำตาม
- ชี้นำให้ผู้อ่านขบคิดพิจารณาต่อไป เพื่อให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาวิชาการนั้นๆ
ที่มา : คู่มือการเขียนรายงานการวิจัย, สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการกลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น