การทำลายเชื้อ (Disinfection)

โดยทั่วไปการทำลายเชื้อ จะมี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 การทำความสะอาด(Cleaning) ถ้าเป็นบ้าน อุปกรณ์ทั่วไป ทำความสะอาดโดยใช้สารฟอกขาว หรือผงซักฟอก สำหรับการทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำได้โดย 1) การล้างด้วยมือ (Manual cleaning) ก่อนจะทำการฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาใดๆ ต้องขจัดสิ่งนั้นออกและล้างให้สะอาดก่อน เวลาล้างอย่าเปิดน้ำให้เชื้อกระจายออกไปทั่ว ขัดถูอุปกรณ์ใต้น้ำ ให้ใช้ถุงมือแบบหนาไม่ใช้แบบบาง เพราะแบบบางทำจาก Latex แตกง่าย ตรวจสอบดูว่าเครื่องมือพร้อมใช้หรือไม่ เช่น น๊อตหลุด และปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง 2) การล้างด้วยเครื่องมือ เช่น Ultrasonic Cleaner การล้างด้วย Washer-Decontaminator/Disinfectors ล้างไปด้วยใส่น้ำยาฆ่าเชื้อไปด้วย หรือการล้างด้วย Washer-Sterilizer ล้างเสร็จปราศจากเชื้อ (Sterile)ระดับที่ 2 การทำลายเชื้อ (Disinfection) ระดับที่ 3 การทำให้ปราศจากเชื้อ (Sterilization) เป็นการทำลายจุลชีพทุกรูปแบบ โดยวิธีทางกายภาพ หรือทางเคมี เช่น การใช้ความร้อน รังสี แก๊ส หรือน้ำยาสารเคมี

การทำลายเชื้อ เป็นกระบวนการทำลายจุลชีพภายนอกร่างกาย โดยใช้สารเคมีหรือทางกายภาพ อนึ่งความสำเร็จของการควบคุมโรคติดต่อที่เป็นผลจากการทำลายเชื้อก่อโรค ขึ้นกับ 3 ปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้
1) ชนิดของยาฆ่าเชื้อมีประสิทธิภาพไม่อันตรายต่อคนผู้ใช้
2) เทคนิควิธีที่ใช้ต้องถูกหลักวิชา
3) เวลาสอดคล้องต้องกันในขณะที่มีการระบาด

ประสิทธิภาพของสารเคมีที่สามารถทำลายเชื้อ แบ่งได้ 3 ระดับ ได้แก่
a. High-level disinfection เป็นการทำลายเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง โดยอาจทำลายเชื้อจุลชีพได้หมด(Bacterial spores, Vegetative bacteria, All fungi, All viruses, Mycobacteria) ยกเว้นสปอร์ของแบคทีเรียบางตัว การเพิ่มโอกาสสัมผัสการทำลายเชื้อให้มากขึ้นจะช่วยให้การทำลายสปอร์ของเชื้อถูกทำลายได้มากที่สุด การทำลายเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงจะได้ผลดี ควรผ่านการล้างทำความสะอาดก่อนโดยใช้สารเคมีที่ใช้ชำระล้าง แล้วนำไปผ่านน้ำยาทำลายเชื้อที่มีประสิทธิภาพด้วยความเข้มข้นเหมาะสม เช่น Formaldehyde, 2% glutaraldehyde, 6% stabilized hydrogen peroxide และ 1% peracetic acid เป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที

b. Intermediate-level disinfection เป็นการทำลายเชื้อที่มีประสิทธิภาพปานกลาง ได้แก่ Mycobacterium tuberculosis ไวรัสส่วนใหญ่ Vegetative bacteria เชื้อราส่วนใหญ่ ยกเว้นสปอร์ของแบคททีเรีย ตัวอย่างเช่น Lodophors, Chlorine compounds และ Alcohol 60-90% รวมถึงการพาสเจอร์ไรเซชั่น (Pasteurization) โดยใช้ความร้อน 75°C [167°F] เป็นเวลา 30 นาที

c. Low-level disinfection เป็นการทำลายเชื้อที่มีประสิทธิภาพปานกลาง ได้แก่ ทำลายเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส (Lipid virus) และราบางชนิด แต่ไม่สามารถทำลายเชื้อ Tubercle bacilli สปอร์ของแบคทีเรีย ได้แก่ Quaternary ammonium compounds และ Phenolics

นอกจากนี้ ยังมียาฆ่าเชื้อที่ควรจะมีไว้ เพราะเป็นยาที่หาได้ง่าย จำหน่ายในลักษณะยาสามัญประจำบ้านสำหรับกรณีภัยพิบัติ หรือการกักกันตามแนวชายแดน คือ
1) น้ำเกลือ ใช้เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ/ต่อน้ำ 1 ลิตร ใช้สำหรับล้างแผล
2) น้ำต้มเดือด และทำให้อุ่นลง ใช้ล้างบาดแผลเพื่อทำให้แผลสะอาด
3) แอลกอฮอล์ ใช้ขนาดความแรง 70% ใช้เช็ดแผล ล้างมือ
4) น้ำยาด่างทับทิม ใช้ขนาดความแรง 1 : 1,000 ใช้ล้างแผล การผสมใช้เกล็ดด่างทับทิม ใส่ลงไปในน้ำอุ่นจนมีสีชมพูอ่อนๆ ก็ใช้ได้
5) ทิงเจอร์ไอโอดีน โดยใช้ขนาด 2.5% แต่เด็กๆ ใช้ 1% ก็เพียงพอ เพราะผิวหนังเด็กบาง ถ้าใช้ขนาดแรงๆอาจไหม้ ใช้เช็ดแผล
6) ไลโซล ใช้ขนาดความแรง 1-2% ใช้แช่เครื่องมือ ควรทิ้งไว้ให้ทำลายเชื้อ (Detention time) 15-30 นาที
7) เดทตอล ใช้ขนาดความแรง 1% ล้างผิวหนังที่ลุยน้ำท่วม
8) น้ำยาบอริค ขนาดความแรง 3% ใช้ล้างตา หรือชะแผล
9) ยาเหลือง (Acriflavine)ใช้ขนาด 1 : 1,000 ใช้ล้างแผลหรือชุบปิดแผล
10) ยาแดง (Mercurochrome) ใช้ขนาด 2-4% ใช้เช็ดแผลหรือชุปปิดแผล
11) ผงซัลฟาไดอะซิน ใช้โรยแผลสดหรือเปื่อย

ที่มา : มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติงานทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ฉบับปรับปรุงใหม่ 2555, สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น