ความพยายามในการสำรวจหาปิโตรเลียมบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของกรมโลหกิจ เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2491 ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากหน่วยงานของรัฐยังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีความเสี่ยงสูง และใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ในการเจาะสำรวจแต่ละหลุมจะต้องใช้เงินประมาณ 2 - 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (60 – 300 ล้านบาท) โอกาสที่จะพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่มีค่อนข้างน้อย สถิติโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 1:10 นั่นคือเจาะสำรวจ 10 หลุม มีโอกาสพบปิโตรเลียม 1 หลุม ดังนั้น ในปีพ.ศ. 2503 รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เข้ามาสำรวจหาปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล โดยให้กองเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ปัจจุบัน คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน) กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เพื่อให้บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมได้ดำเนินการสำรวจอย่างจริงจัง จนประสบความสำเร็จ ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศที่สำคัญในอ่าวไทย ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณจักรวาล ฟูนาน ปลาทอง และไพลิน ของกลุ่มบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) แหล่งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติทานตะวัน เบญจมาศและมะลิวัลย์ของบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น สำหรับแหล่งปิโตรเลียมบนบก ได้แก่ แหล่งสิริกิติ์ ของบริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด แหล่งก๊าซน้ำพองของบริษัท เอสโซ่ฯ โคราช อิงค์และแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม ของบริษัท เฮสส์ฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังก็มีมาตรการส่งเสริมให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บุคลากรไทย มีการพัฒนาและจ้างแรงงานไทยเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศให้มากที่สุด
บริษัทเอกชนของประเทศไทยขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ยังมีบริษัทเอกชนไทย เช่น บริษัท พลังโสภณ จำกัด ร่วมลงทุนในฐานะผู้ร่วมประกอบกิจการปิโตรเลียม
สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้แก่ กรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยงานรัฐเพียงหน่วยงานเดียวที่ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยผลิตน้ำมันจากแหล่งฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในอัตราประมาณวันละ 1,000 บาร์เรล โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นยุทธปัจจัยและความมั่นคง ปลอดภัยของประเทศ
จึงสรุปได้ว่าการสำรวจปิโตรเลียมต้องใช้เงินลงทุนสูง เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ โดยทั่วไปเพียงร้อยละ 10 ดังนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลจึงส่งเสริมให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติมาลงทุนในธุรกิจนี้แทนที่รัฐจะลงทุนเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น