1. ความนำ ควรประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ต่อไปนี้
- ภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ค้นคว้าวิจัย
- ความจำเป็นที่จะต้องศึกษาปัญหาข้อนี้ (need for the study) หมายถึง สาเหตุที่ทำให้จำเป็นต้องศึกษาในเรื่องนี้ เพื่อความก้าวหน้าของวิชาการในแขนงนั้น
- ปัญหาการวิจัย (statement of problem) หมายถึง ข้อความที่ชี้ให้เห็นถึงข้อความหรือข้อคำถามที่ผู้เขียนต้องการศึกษาค้นคว้า
- วัตถุประสงค์ของการวิจัย (research objectives) หมายถึง ความมุ่งหมายที่ผู้เขียนต้องการค้นหาข้อเท็จจริงโดยวิธีการวิจัย
- สมมุติฐานการวิจัย (research hypothesis)
- ข้อตกลงเบื้องต้น (basic assumption) หมายถึง ความคิดพื้นฐานบางประการ ซึ่งผู้เขียนประสงค์จะทำความเข้าใจกับผู้อ่านเกี่ยวกับปัญหานั้น
- ขอบเขตของปัญหา และความจำกัดของปัญหา (scope and limitation of the problem) หมายถึง การขีดวงจำกัดลงให้แน่นอนว่าจะศึกษาพิจารณาในขอบเขตไหน กำหนดสถานที่ กำหนดคุณสมบัติของตัวอย่างที่นำมาศึกษา
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ หมายถึง ข้อความที่ชี้ให้เห็นว่า เมื่อศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้แล้ว ข้อค้นพบอันเป็นผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อใคร ในลักษณะใด
- คำจำกัดความ (definition) ของคำสำคัญต่าง ๆ
2. เอกสารหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (related literature หรือ review of related studies) ในส่วนนี้ผู้เขียนจะต้องชี้แจงว่า เกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษามีใครเขียนไว้ในหนังสือเล่มใดเรื่องอะไร มีใจความอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ให้ความรู้ที่ชัดเจนถูกต้องที่จะนำมาใช้เป็นกรอบความคิดประกอบการศึกษาเรื่องนี้ ทั้งนี้ผู้เขียนอาจสรุปความ กำหนดเป็นสมมุติฐานการวิจัยไว้ในตอนท้ายก็ได้ การกล่าวถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องนี้อาจรวมไว้ในความนำหรือแยกไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากก็ได้ ทั้งนี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสม
3. วิธีการวิจัย ในส่วนนี้อาจกล่าวถึงสิ่งต่อไปนี้
- หลักการเลือกวิธีการวิจัย และการเลือกสถานที่ทดลองหรือศึกษา เพื่อให้ได้ผลตรงตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรก
- เทคนิคที่ใช้ในการวิจัย ในตอนนี้ผู้เขียนแสดงให้ทราบว่าดำเนินการค้นคว้าทดลองอย่างไร และรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีใด
- วิธีจัดกระทำกับข้อมูล เมื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการทดลองและเทคนิคต่าง ๆ ในข้อเทคนิคที่ใช้ในการวิจัยนั้นแล้ว แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนจัดกระทำกับข้อมูลอย่างไร อาจจะเป็นวิธีคำนวณตามแนววิชาสถิติ หรืออาจเป็นวิธีสันนิษฐานตามหลักตรรกศาสตร์
4. ผลของการวิจัย (results) ในส่วนนี้ผู้เขียนนำผลงานในข้อ 3. มาตีความหมายในด้านวิชาการที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับสภาพการณ์โดยทั่วไป และการอ่านเอกสารอื่น ๆ ที่ได้กล่าวอ้างมาแล้วในบทต้น ๆ ผู้เขียนเสนอผลของการวิจัยรวมทั้งสรุปผลงานตั้งแต่ต้นจนถึงผลที่ได้ นอกจากนี้อาจกล่าวถึง
- ผลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เป็นจริง
- ข้อเสนอแนะ (recommendation) และการอภิปรายเกี่ยวกับผลการค้นคว้า อาจกล่าวถึงการนำผลที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในการปรับปรุงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ บางกรณีอาจมีเพียงข้อเสนอแนะหรือการอภิปรายเกี่ยวกับผลการวิจัยอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นก็ได้
- ข้อเสนอให้มีการวิจัยเกี่ยวกับปัญหานี้ในแง่อื่น ๆ หรือด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม
ที่มา : คู่มือการเขียนรายงานการวิจัย, สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการกลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น