ข้อมูลจากผลการศึกษาหลายฉบับได้บ่งชี้ถึงประโยชน์ที่ประเทศสมาชิกได้รับหลังจากที่มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดังนี้
(1) ผลการศึกษาเรื่อง AEC Impact Study โดย USAID, Prof. Michael G. Plummer, Johns Hopkins University, 2552 ระบุว่า การรวมกลุ่มเป็น AEC จะทำให้รายได้ที่แท้จริงของอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 69,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 6 เท่า เทียบกับผลที่ได้รับจากการบรรลุเป้าหมายของการดำเนินการเฉพาะการลดภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ที่อาเซียนได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 นอกจากนี้การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของ
ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สอดคล้องตาม AEC เช่น กฎหมายและนโยบายการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว(per capita GDP) ร้อยละ 26-38 คิดเป็นมูลค่า 117-264 พันล้านเหรียญสหรัฐ
(2) การปรับปรุงด้านองค์กรใน AEC เช่น ตลาดเงิน โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค จะช่วยผลักดันการขยายตัวของภาคเอกชน และทำให้การทำงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น
(3) การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน จะสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค และช่วยให้ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) สามารถรวมตัวกับประเทศสมาชิกที่เหลือได้
(4) การเปิดเสรีแรงงานฝีมือ (Skilled labour) จะทำให้อาเซียนเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากช่วยให้การบริหารจัดการแรงงานฝีมือมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
(5) ผู้บริโภคจะได้รับความสำคัญมากขึ้น สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการราคาถูกลงและหลากหลายมากขึ้น และมีการคุ้มครองผู้บริโภคที่กว้างขวางมากขึ้น
(6) การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น ช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจลดลง และมีระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น