การกักกัน (Quarantine) มาจากภาษาอิตาลี quaranta หมายถึง สี่สิบ (Meaning forty) และถูกอ้างอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ว่าระยะเวลาสูงที่สุดในการกักกันเป็น 40 วัน อย่างไรก็ดีปัจจุบันการกักกันขึ้นกับระยะฟักตัวของเชื้อก่อโรค การกักกันเป็นการจำกัดกิจกรรมของบุคคล และ/หรือสัตว์ที่มีสุขภาพดี เนื่องจากสัมผัส (Expose) กับผู้ป่วยโรคติดเชื้อระหว่างช่วงที่แพร่เชื้อ (Period of communicability) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในช่วงระยะฟักตัว (Incubation period) ถ้าบุคคล และ/หรือสัตว์ที่มีสุขภาพดีติดเชื้อ อย่างไรก็ดีระยะเวลากักกันไม่ควรนานเกินกว่าระยะฟักตัวที่ยาวที่สุดของเชื้อก่อโรค
สามารถจำแนกวิธีการกักกัน ได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ คือ
a. การกักกันโดยเข้มงวดทุกๆ ทาง (Absolute or complete quarantine) เป็นการควบคุมอย่างเข้มงวดโดยไม่ให้มีการเดินทางอย่างเด็ดขาดถ้าไม่จำเป็น ในผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยมาแล้ว จะโดยถูกต้องร่างกายหรือเครื่องใช้ผู้ป่วยจริงๆหรือเพียงร่วมงานหรือสถานที่ของโรค แล้วแต่ชนิดของโรคอย่างเข้มงวด เช่น กรณีผู้ป่วยเดินทางบนอากาศยาน (Aircraft)ถ้ามีการติดต่อของโรคที่แพร่โดยอากาศที่รุนแรงมาก อาจจำเป็นต้องกักกันผู้เดินทางที่นั่งมาร่วมห้องผู้โดยสารเดียวกันกับผู้ป่วยดัชนีทั้งหมด เพราะในห้องผู้โดยสารแต่ละห้องจะมีเครื่องกรอง-ทำลายเชื้อโรคในอากาศด้วย HEPA Filter แยกกันจากส่วนอื่นๆ
b. การกักกันโดยมีการผ่อนคลายบางอย่างบ้าง (Modified quarantine) เป็นการกักกันที่มีการผ่อนคลายโดยอนุญาตให้ผู้สัมผัสมีการเดินทางอย่างมีอิสระบ้าง ระดับของความผ่อนคลายขึ้นกับระดับของความไวต่อการรับเชื้อก่อโรคในผู้สัมผัส และความรุนแรงของโรค เพราะไม่แน่ใจว่าผู้สัมผัสรับเชื้อก่อโรคเข้าสู่ร่างกายมากหรือน้อยต่างกันนั้น อาจจะมีอาการของโรคที่ไปสัมผัสมาได้ และถึงแม้บางกลุ่มได้ให้การฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันแล้ว อาจจะครอบคลุมไม่ครบทุกคน ผู้ที่ไม่รับการให้ภูมิคุ้มกันโรคหรือได้รับช้าเกินไปนั้น อาจเกิดโรคขึ้นได้ในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้การกักกันแบบนี้ ต้องมีวิธีการเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรค เพื่อให้สามารถทราบได้ว่ามีการติดเชื้อ และ/หรือการป่วยเกิดขึ้นทันที นอกจากนี้อาจแยกกลุ่มประชาชน(Segregation) บางส่วน หรือการจำกัดเขตไม่มีการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนย้ายของประชาการ หรือฝูงสัตว์จากพื้นที่ที่เกิดโรคไปอีกแห่ง หรือจากแหล่งอื่นเข้าไปในพื้นที่เกิดโรค ตัวอย่างเช่นการห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกจากพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนก หรือการกักกันเด็กที่ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease) ที่บ้าน เป็นต้น
การกักกันโรคติดต่อระหว่างประเทศ จะสามารถกักกันได้ต่อเมื่อผู้ที่มาจากประเทศที่มีโรคระบาดตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ในประเทศไทย พระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง ปี พ.ศ. 2522 มาตรา 12(4) ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร เป็นผู้วิกลจริตหรือมีโรคอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
1) โรคเรื้อน
2) วัณโรคในระยะอันตราย
3) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
4) โรคยาเสพติดให้โทษ
5) โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3
และมาตรา 12(5) ยังมิได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ หรือฉีดวัคซีน หรือปฏิบัติการอย่างอื่นตามวิชาการแพทย์เพื่อป้องกันโรคติดต่อตามที่กฎหมายบัญญัติ และไม่ยอมให้แพทย์ตรวจคนเข้าเมืองกระทำการเช่นว่านั้น การตรวจวินิจฉัยโรคร่างกายหรือจิต ตลอดจนการปฏิบัติการเพื่อป้องกันโรคติดต่อ ให้ใช้แพทย์ตรวจคนเข้าเมือง สำหรับโรคระบาดอื่นๆ ที่ต้องกักกัน เจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งและใช้อำนาจแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค สามารถใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ปี พ.ศ. 2523 มาตรา 13 ถึง 15 ดำเนินการกักกันเมื่อได้รับคำสั่ง
ในบางท้องที่ การกักกันระหว่างประเทศทำได้ลำบาก เช่น ชายแดนของประเทศบางตอน บางจุดที่ประชาชนเข้าออกโดยเสรี (จุดผ่อนปรน) ยากแก่การตรวจตราได้ทั่วถึง ในกรณีนี้ต้องให้ผู้ปกครองในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นผู้ดูแล กำกับ หรือประชาชนคอยเป็นหูเป็นตา คอยดูแลการเข้าออกในเขตภายใต้ความดูแลรับผิดชอบของตน เจ้าหน้าที่ควรหมั่นออกไปตรวจตราไต่ถามทุกข์สุข และเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนเหล่านั้น จึงจะเป็นการควบคุมโรคไว้ในพื้นที่ชายแดนไม่แพร่กระจายมาในชุมชนในประเทศได้ทันท่วงที การกักกันระหว่างประเทศจะสำเร็จได้ดีต้องมีการประสานงาน และความสัมพันธ์ที่ดีกับผ่ายตรวจคนเข้าเมือง (Immigration officers) และฝ่ายศุลกากร (Custom officers)
ที่มา : มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติงานทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ฉบับปรับปรุงใหม่ 2555, สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น