โรคหัด (Measles)

โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่น (Exanthematous fever) ที่พบบ่อยในเด็กเล็ก นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งอยู่ในตระกูล Paramyxovirus ซึ่งเป็น RNA ไวรัส ที่จะพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย

ระบาดวิทยา
โรคหัดติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส (air borne) เข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ผู้ติดเชื้อจะเป็นโรคเกือบทุกราย ถ้าไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค เด็กมีโอกาสจะเป็นหัดได้เมื่อภูมิคุ้มกันที่ผ่านมาจากแม่หมดไปเมื่ออายุประมาณ 6-9 เดือน อายุที่พบบ่อยคือ 1-6 ปี ถ้าไม่มีภูมิต้านทานจะเป็นได้ทุกอายุ ในประเทศไทย เริ่มให้วัคซีนป้องกันหัดในเด็กอายุ 9-12 เดือน เมื่อ พ.ศ. 2527 และให้วัคซีนรวมหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) เมื่อ พ.ศ. 2540 ทำให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่ก็ยังพบโรคได้ประปราย และมีการระบาดเป็นครั้งคราวในชนบท ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือเป็นในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น
ผู้ป่วยหัดจะมีเชื้อไวรัสในลำคอและแพร่เชื้อได้ในระยะจาก 1-2 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ (3 ถึง 5 วัน ก่อนผื่นขึ้น) ไปถึงระยะหลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน
ระยะฟักตัวของโรค จากที่เริ่มสัมผัสโรคจนถึงมีอาการประมาณ 8-12 วัน เฉลี่ยจากวันที่สัมผัสจนถึงมีผื่นเกิดขึ้นประมาณ 14 วัน

อาการและอาการแสดง
อาการเริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้นและจะสูงเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ของไข้ ลักษณะผื่นนูนแดง maculo-papular ติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นที่ระยะแรกมีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้น เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง ซึ่งคงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายไปหมด กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย
การตรวจในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้นจะพบจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดงๆ อยู่ในกระพุ้งแก้ม เรียกว่า Koplik’s spots ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยโรคหัดได้ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น

โรคแทรกซ้อน
พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสภาพยากจน อยู่ในชุมชนแออัด มีภาวะทุพโภชนาการ และในเด็กเล็กที่พบบ่อย มีดังนี้
1. ทางระบบทางเดินหายใจ
- หูส่วนกลางอักเสบ (Otitis media)
- หลอดลมอักเสบ Croup
- ปอดอักเสบ
2. ทางระบบทางเดินอาหาร พบอุจจาระร่วง ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ
3. สมองอักเสบพบได้ประมาณ 1 ใน 1000 ราย ซึ่งจะทำให้มีความพิการเหลืออยู่ ถ้าไม่เสียชีวิต
4. ในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ อาการจะรุนแรงและอาจทำให้มีตาบอด

การวินิจฉัยโรค
จากอาการทางคลินิก ลักษณะการเกิดผื่นในวันที่ 4 และการแพร่กระจายของผื่นจากหน้าไปยังแขนขา การมี Koplik’s spots แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนคือ การตรวจหา antibody ต่อ measles โดยการเจาะเลือดตรวจในระยะที่มีผื่น และครั้งที่สองห่างไป 2-4 สัปดาห์ ด้วยวิธี Hemagglutination inhibition test หรืออาจตรวจด้วยวิธี ELISA ตรวจหา specific IgM การแยกเชื้อไวรัสจาก nasopharyngeal secretion จากตา หรือจากปัสสาวะในระยะที่มีไข้จะสามารถยืนยันได้ว่าเป็นโรคหัด แต่การแยกเชื้อทำได้ยาก จึงไม่ได้ทำกัน นอกจากเป็นการวิจัย

การรักษา
1) ให้การรักษาตามอาการ ถ้าไข้สูงมากให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการเช็ดตัว ให้ยาแก้ไอที่เป็นยาขับเสมหะได้เป็นครั้งคราว
2) ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ นอกจากรายที่มีโรคแทรกซ้อนเช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ
3) ให้อาหารอ่อนที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ให้วิตามินเสริมโดยเฉพาะวิตามินเอ องค์การอนามัยโลกและ UNICEF แนะนำให้วิตามินเอแก่เด็กที่เป็นหัดทุกรายในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของ
การขาดวิตามินเอสูง และอัตราป่วยตายของโรคหัดเกิน 1% เนื่องจากผลของการศึกษาในประเทศด้อยพัฒนาหลายแห่งแสดงให้เห็นว่าให้วิตามินเอเสริมแก่เด็กที่เป็นหัดจะช่วยลดอัตราตายจากหัดลงได้

การแยกผู้ป่วย
แยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัดจนถึง 4 วัน หลังผื่นขึ้น

การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย วิธีที่ดีที่สุดคือให้วัคซีนป้องกัน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR1) ครั้งที่ 1 และเมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยให้ในรูปของวัคซีน MMR ครั้งที่ 2 สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคภายในระยะ 72 ชั่วโมง อาจพิจารณาให้วัคซีน MMR ทันที ซึ่งอาจป้องกันการเกิดโรคได้

การดำเนินการสอบสวนโรค เมื่อเกิดการระบาดโรคหัด
การสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะราย สอบสวนการระบาด การส่งตรวจตัวอย่าง
1. การเฝ้าระวังโรค เมื่อพบผู้ป่วยสงสัยว่าเป็นโรคหัด ให้เขียนบัตรรายงานผู้ป่วย รง.506 และรายงานผู้ป่วยตามแบบเฝ้าระวังโรคเร่งด่วนส่งมายังสำนักระบาดวิทยา ทั้งนี้ในระดับพื้นที่ตำบล/อำเภอ/จังหวัด จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบลักษณะการระบาดก่อนทุกครั้งเนื่องจากในปัจจุบันการระบาดในพื้นที่มีขนาดเล็ก เมื่อสำนักระบาดวิทยาวิเคราะห์เป็นภาพรวมของจังหวัดมักไม่พบการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยชัดเจน
2. การสอบสวนผู้ป่วยหัดเฉพาะราย ในปัจจุบันสำนักระบาดวิทยากำหนดให้สอบสวนในกรณีผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 9 เดือน ผู้ป่วยอายุมากกว่า 25 ปี ผู้ป่วยใน ผู้เสียชีวิต หรือผู้ป่วยสงสัยหัดที่มีอาการผิดไปจากปกติ
3. กำหนดให้สอบสวนการระบาดเมื่อพบผู้ป่วยโรคหัด 2 ราย ขึ้นไปภายใน 18 วัน ในหมู่บ้าน/โรงเรียน/สถานสงเคราะห์เด็กอ่อน ซึ่งได้มีการตรวจสอบยืนยันการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคหัด ให้ถือว่ามีการระบาดของโรคเกิดขึ้น
4. เมื่อสงสัยว่ามีการระบาด ให้ส่งตัวอย่างซีรั่มผู้ป่วยจำนวนหนึ่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 9 เดือนหรือมากกว่า 25 ปี โดยประสานผ่านสำนักระบาดวิทยา โทรศัพท์ 02-5901876 ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยาจะอำนวยความสะดวกในการจัดส่ง และไม่ต้องเสียค่าตรวจ

อ้างอิง : หลักการควบคุมโรคเบื้องต้นสำหรับ SRRT, สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น