การสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะราย (Individual case investigation)

การสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะราย (Individual case investigation) เป็นการหาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโรคที่สนใจ หรือเป็นปัญหาสำคัญ จากผู้ป่วยทีละราย ขณะที่ยังไม่เกิดการระบาด ซึ่งนอกจากจะได้ข้อมูลรายละเอียดมากกว่าข้อมูลจากบัตรรายงานผู้ป่วยแล้ว ยังทราบรายละเอียดการตรวจชันสูตรผู้ป่วยจากแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษาและจากการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมส่วนใหญ่ทำการสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะรายในโรคที่มีอุบัติการณ์ต่ำ (Rare diseases) รายที่ผิดปกติของโรคที่พบทั่วไป โรคที่เคยควบคุม (หรือกำจัด) ได้แล้ว สำหรับโรคที่มีอุบัติการณ์สูง การสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะรายจะช่วยตรวจสอบความเที่ยงตรง (Validity) ของรายงานการป่วยและการตาย

วัตถุประสงค์ของการสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะราย
1) เพื่อยืนยันการรายงานโรค
2) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคต่อไป
3) เพื่อเข้าใจถึงลักษณะการเกิดโรคในผู้ป่วยแต่ละราย

ขั้นตอนการสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะราย
มีขั้นตอนการสอบสวนผู้ป่วยดังนี้
1) รวบรวมข้อมูลการป่วย ไปพบผู้ป่วย หรือญาติที่สถานที่รักษาพยาบาล พบแพทย์/ผู้ให้การรักษา และสอบสวนเพิ่มเติมที่บ้านผู้ป่วย โดยรวบรวมข้อมูล
- ประวัติ อาการและอาการแสดง
- การวินิจฉัยของแพทย์
- ผลการตรวจทางห้องชันสูตร
- สภาพแวดล้อมของผู้ป่วย
- ข้อมูลอื่นตามชนิดของโรค เช่น โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ต้องมีข้อมูลประวัติ การได้รับวัคซีนในผู้ป่วย และความครอบคลุมการได้รับวัคซีนในพื้นที่ เป็นต้น
2) ค้นหาขอบเขตการกระจายของโรคในคน เน้นผู้สัมผัสในครอบครัวของผู้ป่วยและผู้สัมผัสในชุมชน ค้นหาผู้ที่มีอาการป่วยก่อนและหลังรายที่สอบสวน (Index case) ถ้าพบผู้ป่วยรายอื่นอีก ควรตรวจสอบข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของพื้นที่ หากมีลักษณะของการระบาด ให้เปลี่ยนเป็นสอบสวนการระบาดแทน
3) เก็บตัวอย่างส่งตรวจ ช่วยให้มั่นใจว่าการมีผู้ป่วยเพียงรายเดียวนั้น เชื้อโรคสาเหตุได้กระจายไปในสิ่งแวดล้อมและผู้สัมผัสมากน้อยเพียงไร
4) ควบคุมโรค (ขั้นต้น) รีบดำเนินการทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อมและผู้สัมผัส รวมถึง มาตรการควบคุมโรคอื่นๆ เช่น รณรงค์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อชุมชน (Herd immunity)
5) เขียนรายงาน เป็นการเสนอรายละเอียดทั้งหมดให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ พร้อมกับ “แบบสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะราย” ที่สมบูรณ์

แบบสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะราย
เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้รวบรวมข้อมูลได้รายละเอียดในประเด็นสำคัญครบถ้วน และช่วยในการเรียบเรียง วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยจากการสอบสวนโรคหลายๆ ครั้ง
แบบสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะรายในที่นี้ ควรแยกออกจากแบบสอบถามหรือแบบเก็บข้อมูลผู้ป่วยขณะที่มีการระบาด

ทักษะสำคัญในการสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะราย
1) การรวบรวมข้อมูลทางระบาดวิทยาของผู้ป่วยได้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งแสดงผ่านทางรายงานการสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะราย ที่มีการเขียนข้อมูลการป่วยแต่ละรายอย่างละเอียดตามลำดับเหตุการณ์ ตั้งแต่เริ่มมีอาการ การดำเนินโรค ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการรักษา
2) การเก็บวัตถุตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีหลักการดังนี้
- เลือกเก็บตัวอย่างอะไร
- บริเวณไหนที่จะมีโอกาสพบเชื้อสูง
- ช่วงระยะเวลาที่เก็บเมื่อใด
- ใส่ภาชนะอะไร
- อาหารเก็บรักษาเชื้อที่เหมาะสม
- นำวัตถุตัวอย่างส่งตรวจอย่างไร
- ข้อมูลของคนไข้ (ในใบนำส่ง เพื่อให้จับคู่ผลตรวจกับข้อมูลผู้ป่วยได้)

อ้างอิง : มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติงานทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ฉบับปรับปรุงใหม่ 2555 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น