หลักการควบคุมโรคเบื้องต้น

1) เราต้องพิจารณาก่อนคือเชื้อโรคมันอยู่ตรงไหน สำหรับที่ๆ เชื้อโรคอาศัยอยู่ บางคนเรียก Reservoirs (รังโรค) บางคนเรียก Source (แหล่งโรค) สองคำนี้ แตกต่างกันตรงที่ถ้าเราพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นต้นเหตุให้มีการระบาดเกิดขึ้น เราจะเรียกว่าเป็น Reservoirs เช่นน้ำในแจกันในหอผู้ป่วยอาจตรวจพบว่ามีเชื้อโรคเจริญเติบโตอยู่ได้บ่อยๆ แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นสาเหตุของการระบาดเราเรียกว่า Source (แหล่งโรค) การควบคุมโรคต้องกำจัดแหล่งโรค ถ้าเราบอกว่า Source อยู่ที่ไหนก็ทำลายออกไป ไม่ใช่หลงไปกำจัดรังโรค Reservoirs
เชื้อโรคไม่เพียงอยู่ในคนเท่านั้น ในสิ่งแวดล้อมก็มีการปนเปื้อนได้ ที่ไต้หวัน การระบาดของซาร์สทำให้เกิดโศกนาฏกรรม เพราะผู้บริหารซึ่งไม่ใช่แพทย์ขาดความรู้ สั่งปิดโรงพยาบาลไม่ให้คนนอกเข้า คนในออกแล้วยังสั่งให้ปิดเครื่องปรับอากาศทั่วโรงพยาบาล เพราะคิดว่าถ้าอากาศร้อนเชื้อไวรัสจะตาย เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ป้องกันเต็มที่ ไม่ได้ใส่ถุงมือ เสื้อกันเปื้อน ป้องกันตามหลักการ เนื่องจากอากาศร้อนอึดอัด จากการตรวจตามพื้นผิวของลูกบิดประตู โต๊ะ โทรศัพท์เครื่องคอมพิวเตอร์ พบไวรัสปนเปื้อนอยู่ทั่วไป เพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายทำให้มีเจ้าหน้าที่ป่วยตายกันมาก

2) ถ้าเป็นคนต้องพิจารณาว่าเป็นผู้มีภูมิไวรับ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำหรือไม่ เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจหรือกินยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น กลุ่มนี้ต้องไม่ให้เขาทำงานในที่ๆ มีแหล่งโรคอยู่ เป็นเรื่องที่มักละเลยอยู่บ่อย

3) ต้องมีความรู้เรื่องวิธีการแพร่กระจายเชื้อ (Mode of Transmission) ซึ่งเรียงลำดับความสำคัญดังนี้
- Contact Transmission มีทั้ง Direct contact เช่น สัมผัสน้ำมูก น้ำลาย แผลหนองโดยตรง หรือแบบ Indirect contact เช่น ผ่านเครื่องมือแพทย์ต่างๆ
- Droplet Transmission ไอจามละอองฝอยใส่คนอื่นในระยะห่างไม่เกินสามฟุตทำให้ติดโรคทางเดินหายใจได้ง่ายเช่นหวัด หัด คออักเสบ เป็นต้น
- Airborne Transmission วิธีนี้อาศัยลมพัดพาไป วัณโรคเป็นตัวอย่างที่พบบ่อย
- วิธีอื่นๆ เช่น การได้รับยา น้ำเกลือ เลือด แล้วทำให้ติดเชื้อ แบบนี้เราเรียกว่าเป็น common vehicle หรือในชุมชนกรณีของอาหารเป็นพิษ น้ำ หรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ ก็เป็น common vehicle เช่นกัน นอกจากนั้นก็มีการติดต่อโดยแมลง หรือสัตว์อื่นๆ

4) ต้องรู้ Portal of Entry เชื้อโรคจะมีทางผ่านเข้าของเชื้อ ได้แก่ ทางเยื่อบุตา ผิวหนังที่มีแผลทางเดินหายใจ ฯลฯ

อ้างอิง : หลักการควบคุมโรคเบื้องต้นสำหรับ SRRT, สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น