ปิโตรเลียมคืออะไร
ปิโตรเลียมเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากซากสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่สะสม ทับถมปนอยู่กับตะกอนดินทั้งบนบกและในทะเล เมื่อหลายสิบล้านปีก่อนภายใต้สภาวะที่มีก๊าซออกซิเจนน้อย ซากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะถูกแบคทีเรียและเชื้อรา เปลี่ยนสภาพเป็นอินทรียวัตถุ เมื่อเวลาผ่านไปบริเวณดังกล่าวจะค่อยๆ ทรุดตัวหรือจมลงภายใต้ผิวโลกลึกมากขึ้น และจากแรงกดที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากน้ำหนักของชั้นตะกอนที่ทับถมอยู่ด้านบน ตลอดจนอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลทำให้อินทรียวัตถุ แปรสภาพและสลายตัวเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เรียกว่าปิโตรเลียม
ปิโตรเลียมกำเนิดมาอย่างไร
ปิโตรเลียมกำเนิดมาจากหินต้นกำเนิดปิโตรเลียม (Source Rock) ซึ่งเป็นตะกอนหรือหิน ชั้นที่มีสารอินทรีย์แทรกปนอยู่ โดยมีปริมาณสารอินทรีย์อย่างน้อยร้อยละ 0.5 และโดยทั่วไปควรจะมากกว่าร้อยละ 1.5 ตัวอย่างของหินต้นกำเนิดปิโตรเลียม ได้แก่ หินดินดาน หรือหินโคลน เป็นต้น ปิโตรเลียมที่เกิดขึ้นจากการสลายตัวของสารอินทรีย์ จะไหลซึมออกจากหินต้นกำเนิดปิโตรเลียมไปตามรอยแตก รอยแยก และตามรูพรุนของหินไปสู่แหล่งใหม่ที่มีความดันต่ำกว่าแหล่งเดิม เรียกหินที่เป็นแหล่งสะสมตัวใหม่ของปิโตรเลียมว่า หินกักเก็บปิโตรเลียม (Reservoir Rock) ซึ่งมีลักษณะเป็นรูพรุนหรือ ช่องว่างที่เชื่อมต่อกันเพียงพอที่จะกักเก็บน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติไว้ได้ สำหรับการสะสมตัวของปิโตรเลียมในหินชนิดต่างๆ พบว่าอยู่ในหินทรายร้อยละ 59 อยู่ในหินปูนร้อยละ 40 และในหินแกรนิตร้อยละ1 ในธรรมชาติเมื่อเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและความดันจากน้ำหนักของชั้นหินต่างๆ ที่ทับถมเหนือหินกักเก็บปิโตรเลียมขึ้นไป จะทำให้ปิโตรเลียมที่อยู่ในหินกักเก็บปิโตรเลียม เคลื่อนที่ผ่านรูพรุนหรือช่องว่างระหว่างเม็ดแร่ของหินขึ้นสู่ผิวโลกและระเหยไป แต่หากหินกักเก็บปิโตรเลียมถูกปิดทับด้วยหินปิดกั้น (Seal) ที่มีเนื้อละเอียดแน่น เช่น หินดินดาน หินโคลนหรือหินปูน จะทำให้ปิโตรเลียมไม่สามารถไหลซึมผ่านขึ้นสู่ผิวโลกได้และกำเนิดเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม
ปิโตรเลียมมีกี่ประเภท
ปิโตรเลียมแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดิบ (Crude Oil) ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) และก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate)
1. น้ำมันดิบเป็นปิโตรเลียมที่มีสถานะเป็นของเหลว มีสีน้ำตาลถึงสีดำ มีค่าความหนาแน่นระหว่าง 0.79-0.95 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ภายใต้สภาพปกติที่ผิวโลก น้ำมันดิบมีปริมาณคาร์บอนร้อยละ 82.2-87.1 โดยน้ำหนัก ไฮโดรเจนร้อยละ 11.7 - 14.7 โดยน้ำหนัก ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 0.2 - 6.1 เป็นสารประกอบอื่นๆ ได้แก่ กำมะถัน ไนโตรเจน ออกซิเจนและน้ำเป็นต้น
2. ก๊าซธรรมชาติเป็นปิโตรเลียมที่มีสถานะเป็นก๊าซหรือไอ ประกอบด้วย ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นส่วนใหญ่ และมีก๊าซอีเทน (C2H6) ก๊าซโพรเพน (C3H8) และก๊าซบิวเทน (C4H10) ปนอยู่บ้าง ก๊าซธรรมชาติบริสุทธิ์ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น อาจเกิดร่วมกับน้ำมันดิบหรือไม่ก็ได้
3. ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นไฮโดรคาร์บอนในกลุ่มเดียวกับก๊าซธรรมชาติ แต่มีสถานะเป็นของเหลว โดยเมื่ออยู่ในแหล่งกักเก็บใต้ผิวโลก ซึ่งมีอุณหภูมิและความดันสูงจะมีสภาพเป็นก๊าซ และจะกลายสภาพเป็นของเหลว เมื่อขึ้นมาสู่พื้นผิวโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น