การเบิกจ่ายค่าเดินทางไปราชการโดยใช้ยานพาหนะส่วนตัว

สำหรับเหล่าข้าราชการที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถยนต์ส่วนบุคคล ตลอดจนแม้แต่ใช้รถจักรยานยนต์ก็ตาม เมื่อเดินทางไปราชการที่ไหน เราสามารถเบิกค่าเดินทางได้โดยมีหลักการดังนี้ครับ

การเดินทางไปราชการโดยใช้ยานพาหนะส่วนตัว

ยานพาหนะส่วนตัว หมายความว่า รถยนต์ส่วนบุคคลหรือรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลซึ่งมิใช่ของทางราชการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เดินทางไปราชการหรือไม่ก็ตาม

การใช้ยานพาหนะส่วนตัวไปราชการ ผู้เดินทางจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา(อธิบดีขึ้นไปหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า สำหรับราชการบริหารส่วนกลาง , หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดซึ่งเป็นผู้เบิกเงินสำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาค) ซึ่งจะมีสิทธิเบิกเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในลักษณะเหมาจ่ายให้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเป็นค่าพาหนะส่วนตัว

เงินชดเชยในการใช้พาหนะส่วนตัวในการเดินทางไปราชการ
- รถยนต์ส่วนบุคคล กิโลเมตรละ 4 บาท
- รถจักรยานยนต์ กิโลเมตรละ 2 บาท

การใช้พาหนะส่วนตัวเดินทางไปราชการ ให้เบิกเงินชดเชยเป็นค่าพาหนะในลักษณะเหมาจ่ายให้ผู้เดินทางไปราชการซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแล้วแต่กรณีในอัตราต่อ 1 คัน ตามอัตราที่กระทรวง การคลังกำหนด โดยให้คำนวณระยะทางเพื่อเบิกเงินชดเชยตามเส้นทางของกรมทางหลวงในทางสั้นและตรง ซึ่งสามารถเดินทางได้โดยสะดวกและปลอดภัย

จากบทความดังกล่าว จะเห็นว่ามีข้อแม้อยู่ 2 ตัวครับ
1. ผู้เดินทางจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน ... ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเอะอะจะไปก็ไป แล้วไปบ่นการเงินว่าไม่ยอมจ่ายค่าเดินทางให้นะครับ ต้องมีบันทึกข้อความขออนุญาตก่อนให้เรียบร้อย
2. ตรงนี้การเงินชอบหาเส้นทางลัดบุกป่าฝ่าดงมาให้เราซึ่งเป็นทางสั้นที่สุดสำหรับเบิกจ่าย (คงไม่ได้เป็นทุกที่) แต่ในความเป็นจริง เราควรขับรถทางหลักจะปลอดภัยกว่า ซึ่งระเบียบเค้าบอกว่า "โดยให้คำนวณระยะทางเพื่อเบิกเงินชดเชยตามเส้นทางของกรมทางหลวงในทางสั้นและตรง" ดังนั้น เส้นทางที่อาจจะไกลกว่าหน่อย แต่เป็นเส้นทางตามเกณฑ์นี้ ก็สามารถนำมาใช้ประกอบการเบิกจ่ายได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น