ประเทศไทยขุดเจาะน้ำมัน ทำธุรกิจน้ำมันเองได้ ไม่ต้องง้อต่างชาติ จริงหรือไม่?

หน่วยงานไทยสามารถสร้างหน่วยธุรกิจด้านการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมได้ ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและสมรรถนะในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศได้เอง อีกทั้งเสนอแนะให้หน่วยงานคนไทยมีสิทธิและหน้าที่หลักในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ ... นี่คือประเด็นที่หลายๆคนอยากให้เป็น แต่แท้จริงเป็นอย่างไร? ลองอ่านดูครับ

การเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมจะประกาศเป็นการทั่วไป ผู้ที่มีคุณสมบัติของผู้รับสัมปทานตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 สามารถยื่นขอได้เท่าเทียมกันโดยไม่จำกัดสัญชาติ แต่โดยที่ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และมีความเสี่ยงสูง ทำให้ปัจจุบันมีผู้รับสัมปทานซึ่งเป็นบริษัทคนไทย 6 บริษัท โดยกลุ่มบริษัท ปตท.สผ. สามารถผลิตปิโตรเลียมได้ถึงประมาณร้อยละ 30 ของปิโตรเลียมทั้งหมดที่ผลิตในประเทศและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย สำหรับผู้รับสัมปทานซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยต่างเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ มีเทคโนโลยีนำสมัย มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนไทย และมีความรู้ความเข้าใจในระบบปิโตรเลียมของประเทศไทยเป็นอย่างดีอีกด้วย
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงเห็นว่าการเปิดกว้างให้มีบริษัทต่างประเทศอยู่ในประเทศไทยเพื่อให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาใหม่ในต่างประเทศให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาพลังงานของประเทศ และที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น แหล่งก๊าซบงกชของบริษัทปตท.สผ.หยุดผลิต หรือท่อก๊าซของบริษัทปตท.รั่ว เป็นต้น บริษัทผู้รับสัมปทานรายอื่นที่ไม่ได้เป็นบริษัทคนไทยได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยผลิตก๊าซทดแทนส่วนที่หายไป นอกจากนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังมีนโยบายให้บริษัทต่างประเทศเร่งพัฒนาบุคลากรไทย ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บุคลากรไทย ทำให้มีการพัฒนาและจ้างแรงงานไทยจำนวนมากและบุคลากรเหล่านี้ยังมีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศอีกด้วย อีกทั้งมีการจ้างงานคนไทยในระดับฝีมือ (Professional) ถึงมากกว่าร้อยละ 98 ของพนักงานทั้งหมดที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย
อนึ่ง แม้ในประเทศผู้นำด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เช่น ซาอุดิอาระเบีย อเมริกา นอรเวย์ เป็นต้น ต่างก็เปิดให้บริษัทต่างประเทศดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นการเปิดให้บริษัทต่างประเทศดำเนินการจึงเป็นมาตรฐานในทางปฏิบัติทั่วโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น