AEC กับ FTA แตกต่างกันหรือไม่?

ความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area Agreement) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า FTA เป็นความตกลงที่มีประเทศตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไปจัดทำขึ้น เพื่อให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะลด และ/หรือยกเลิกอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันการเจรจา FTA ของไทยในระยะเริ่มแรกมุ่งเน้นเรื่องการลดภาษีนำเข้าระหว่างกัน แต่ปัจจุบันความตกลงเขตการค่าเสรีเริ่มมีขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น คือครอบคลุมเรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน รวมทั้งกำหนด/ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ช่วยลดอุปสรรคต่อการค้าบริการและการลงทุน การเจรจา FTA กับ ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะรวมประเด็นใหม่ๆ อาทิ แรงงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คือ เป้าหมายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2558 ซึ่งมีองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งการเปิดเสรีสินค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งการเปิดเสรีที่ว่าจะอยู่ภายใต้ความตกลง 3 ฉบับได้แก่
1) ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน
2) กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน
3) ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน
นอกจากนี้ ยังรวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เพื่อสร้างพื้นฐานและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายและกระจายสินค้า บริการ การลงทุน ตลอดจนการเดินทางของประชาชนและผู้ประกอบการเป็นไปอย่างสะดวก คล่องตัว โดยมีความร่วมมือทั้งในด้านปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ การสร้างความสอดคล้องในด้านมาตรฐานสินค้าและบริการ การปรับประสานนโยบายด้านการแข่งขันเพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ และความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ดังนั้น กล่าวโดยสรุป ความตกลงเปิดเสรีระหว่างอาเซียนด้านเศรษฐกิจภายใต้ AEC ก็ถือเป็นความตกลง FTA นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น