เพื่อเป็นการฟื้นฟูสืบสานประเพณีการทอดตุลกฐิน จังหวัดมุกดาหาร จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กำหนดจัดงานบุญประเพณีทอดจุลกฐิน ณ วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ในวันที่ 16-17 ตุลาคม 2552 ขึ้น โดยในวันที่ 16 ต.ค.52 จะมีพิธีบวชชีพราหมณ์ 9 พราหมณ์ พิธีเก็บดอกฝ้าย กิจกรรมปั่นฝ้าย กิจกรรมงานบุญ พิธีนำดอกฝ้ายเข้าสู่กระบวนการต่างๆ คือ ตาก อิ้ว ดีด เข็น ฆ่า พิธีทอผ้าจีวร เหล่านี้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน นับจากเวลาที่พระอาทิตย์ตกดิน จนกระทั่งเวลาพระอาทิตย์ขึ้นของวันใหม่ (ในคืนวันที่ 16 ต.ค. 52) และถวายผ้าจุลกฐิน (กฐินแล่น) พระสงฆ์ในเช้าวันที่ 17 ต.ค. 52 การให้ความรู้เรื่องจุลกฐิน และสาธิตวิธีผลิตผ้าจีวรซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในงานจุลกฐิน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมทำบุญสืบสานประเพณีการทอดจุลกฐิน นอกจากนี้ ยังสามารถเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวตามเส้นทางต่างๆ เช่น การเลือกสินค้าถูกใจที่ตลาดอินโดจีน ตกเย็นขึ้นไปชมวิวของเมืองมุกดาหารที่หอแก้ว ชมความงามของตัวสะพานมิตรภาพ 2 จากแสงอาทิตย์สะท้อนแม่น้ำโขง ทอแสงเป็นประกายช่วงพระอาทิตย์ตกดิน และชมธรรมชาติยามเย็นสองฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงทิวทัศน์โดยรอบ
ก่อนเดินทางสามารถสอบถามข้อมูลและตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยวได้ที่ ททท. สำนักงานจังหวัดนครพนม โทร. 0 4251 3490 เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. หรือที่เว็บไซต์กลุ่มจังหวัดสนุก www.tatsanuk.com
จุลกฐิน คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทราจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งอีกวันหนึ่ง ดังนั้น โบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนเป็นอย่างดี ปัจจุบ้นประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า "กฐินแล่น" (จุลกฐินไม่ใช่คำที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการให้ได้มาซึ่งพระกฐินเองได้ เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐิน แต่ยังไม่มีผู้นำผ้ากฐินมาถวาย
ข้อมูล http://thai.tourismthailand.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น